ปรากฎการณ์ธรรมชาติ

วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

การเรียนรู้ร่วมกันแบบทำโครงงานมัลติมีเดีย

การเรียนรู้ร่วมกันแบบทำโครงงานมัลติมีเดีย
การเรียนรู้ร่วมกันเมื่อมี ICT (Information and Communication Technology) เป็นปัจจัยสำคัญ มีพื้นฐานมาจากทฤษฎีการศึกษา (Theory of Education) ที่เรียกว่า Constructionism ของศาสตราจารย์ซีมัวร์ แพพเพิท (Seymour Papert) Constructionism ของ Papert มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ Constructivism ของ Piaget โดยที่ Constructivism ของ Piaget ให้ศาสตร์ว่าความรู้คืออะไร และความรู้เกิดขึ้นได้อย่างไร Constructionism ของ Papert เน้นไปที่ศิลปะของการเรียนรู้ หรือเรียนที่จะเรียนรู้ หรือการเรียนรู้โดยการสร้างทำบางสิ่งขึ้นมา Papert ให้ความสำคัญกับเครื่องมือ สื่อ และบริบทของการพัฒนามนุษย์
การเรียนการสอนตามแนว Constructionism มีส่วนประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ
1) มีสื่อวัสดุที่ดีในการใช้สร้างความรู้
2) มีบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี
การเรียนรู้ร่วมกันแบบทำโครงงานมัลติมีเดีย จึงจำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์เป็นวัสดุสำหรับสร้างความรู้ โดยให้นักเรียนนำมาสร้างชิ้นงานหรือผลงานเก็บไว้ในรูปแฟ้มงาน ในลักษณะที่นักเรียนเรียนรู้ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนนักเรียน มีเวลาในการศึกษา สำรวจ ทดลอง และจัดการ เพื่อสร้างชิ้นงานมัลติมีเดีย ในบรรยากาศการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ประการ คือ นักเรียนมีทางเลือกหลายทาง นักเรียนมีความหลากหลาย และมีความเป็นกันเองในชั้นเรียน
การให้นักเรียนมีทางเลือกหลายทางเลือก จะทำให้เกิดการสร้างชิ้นงานหรือผลงานที่มีความหมายต่อตัวผู้เรียน เพราะผู้เรียนได้มีโอกาสเลือกทำในสิ่งที่ตนสนใจ ย่อมทำให้เกิดผลงานที่นำมาซึ่งความสำเร็จและเกิดการเรียนรู้จากการสร้างผลงานนั้น
การมีความหลากหลายในกลุ่มผู้เรียน จะช่วยให้นักเรียนสามารถพึ่งพาและเรียนรู้จากกลุ่มผู้เรียนด้วยกันได้ดีขึ้น ดังนั้นนอกจากจะให้นักเรียนสร้างผลงานเป็นรายบุคคลแล้ว ควรจัดให้นักเรียนทำงานกลุ่มที่สมาชิกในกลุ่มมีความหลากหลายในสิ่งที่ตนชอบไม่ชอบ และมีความสามารถแตกต่างกัน โดยร่วมกันสร้างผลงานในรูปแฟ้มงานและนำเสนอผลงานนั้น
การมีความเป็นกันเองในชั้นเรียน เป็นบรรยากาศที่จะช่วยทำให้ผู้เรียนรู้สึกสบายใจไม่เครียด เมื่อสงสัยหรือต้องการความช่วยเหลือจากใครก็สามารถไปถามหรือขอให้เพื่อนมาช่วยเหลือได้ ต่างจากชั้นเรียนในลักษณะที่มีครูเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีสภาพเหมือนการจำกัดพื้นที่ให้นั่งอยู่เฉพาะที่ บรรยากาศลักษณะที่มีความเป็นกันเองทำให้เกิดการเรียนรู้ได้มากกว่าการรอรับจากครูคนเดียว และสร้างสภาพการอยู่ร่วมกันในสังคมได้ดี
การจัดการเรียนการสอนตามแนว Constructionism เน้นการเรียนรู้จะเกิดผลดี เมื่อให้นักเรียนเป็นผู้สร้างหรือค้นพบความรู้นั้นด้วยตนเอง โดยมีครูเป็นผู้คอยชี้แนะให้คำแนะนำและช่วยเหลือ การหาวิธีการเพื่อให้นักเรียนเป็นผู้สร้างจึงดีกว่าการหาวิธีสอนที่มีครูเป็นศูนย์กลางของการถ่ายทอด การสอนจะเป็นไปในรูปของการสอนแบบมีปฏิสัมพันธ์ (interactive teaching) ให้กับนักเรียนแต่ละคนที่มีความต้องการใช้ในสิ่งที่ครูสอนนั้น การสอนอย่างมีปฏิสัมพันธ์นี้ นอกจากจะทำให้นักเรียนที่ครูสอนหรือชี้แนะเข้าใจดีแล้ว นักเรียนยังเป็นแหล่งของความรู้ที่จะช่วยเพื่อนที่ต้องการความรู้ในส่วนนั้นต่อไป และช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในความรู้นั้นเพิ่มมากขึ้น เพราะได้สอนหรืออธิบายให้กับผู้เรียนคนอื่นที่พึ่งจะพร้อมหรือต้องการเรียนในเรื่องเหล่านั้น ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายกับตัวผู้เรียน เพราะการเรียนรู้สิ่งใดได้ดีนั้นเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนมีความต้องการใช้ความรู้นั้นในการสร้างชิ้นงาน
การเรียนรู้ร่วมกันแบบทำโครงงานมัลติมีเดีย ทำให้ครูใช้เวลาสอนอยู่หน้าชั้นน้อย แต่ให้เวลานักเรียนในการทำโครงงานเป็นส่วนใหญ่ การสอนของครูเป็นไปในลักษณะมีปฏิสัมพันธ์ การเรียนการสอนจึงไม่เน้นการอธิบายวิธีการทั้งหมด แล้วให้นักเรียนสร้างตามแบบ แต่เน้นให้นักเรียนลงมือสร้างชิ้นงานไปพร้อมกับการเรียนรู้วิธีการสร้างหรือทำโครงงานนั้น วิธีการนี้จะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งวิธีการและเนื้อหานั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะนักเรียนจะต้องศึกษาโดยการค้นคว้าหาข้อมูลและสารสนเทศ ศึกษาข้อมูลและสารสนเทศเพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ และจัดการกับเนื้อหาที่นำมาทำโครงงานนั้น แหล่งของความรู้ไม่อยู่ที่ครูเพียงคนเดียว แต่ทุกคนในชั้นเรียนจะเป็นแหล่งของความรู้ซึ่งกันและกัน เป็นบรรยากาศที่ร่วมกันเรียน ร่วมกันคิดและร่วมกันแก้ปัญหา หรือเรียนรู้ไปด้วยกันทั้งครูกับนักเรียน และนักเรียนกับนักเรียน
การทำโครงงานมัลติมีเดียมีหลายรูปแบบ โครงงานที่สร้างจะอยู่ในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงสื่อที่เป็นข้อความ เสียง ภาพ วิดีทัศน์ และภาพเคลื่อนไหว และการมี ปฎิสัมพันธ์ที่ประสมประสานกันเป็นหลายสื่อหรือมัลติมีเดีย และเนื่องจากสื่อเหล่านี้เป็นสื่อที่อยู่ในรูปของดิจิทัล ผลิตและสร้างด้วยคอมพิวเตอร์และเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นที่มาของคำว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Media)
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่จัดทำอาจเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้น โดยให้ผู้สร้างสวมบทบาทหรือเลียนแบบสิ่งที่เป็นอยู่ในชีวิตจริง เช่น
- เป็นนักเขียนเรื่องแล้วจัดทำเป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ในเว็บ
- เป็นนักข่าวเขียนข่าวประกอบเรื่องที่ไปศึกษาโดยการสัมภาษณ์ และถ่ายภาพ
- เป็นครูสร้างสื่อถ่ายทอดเนื้อหาให้เพื่อนนักเรียนหรือรุ่นน้อง
- เป็นผู้พัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
- เป็นนักออกแบบเว็บ ที่รวบรวมจัดหาข้อมูลที่เหมาะสมมาสร้างเป็นเว็บเพจ
- เป็นนักวิจัย จัดทำเว็บเพจจากเนื้อหาที่ได้ทำการศึกษาทดลองด้วยตนเอง
- เป็นนักประชาสัมพันธ์ จัดทำเว็บเพจเชิญชวน หรือแจ้งข่าวสาร
- เป็นนักจัดรายการวิทยุ จัดทำเป็นรายการวิทยุอิเล็กทรอนิกส์
- เป็นนักเล่านิทาน จัดทำเป็นเรื่องเล่ามีเสียงประกอบภาพการ์ตูน
- เป็นนักเขียนการ์ตูน จัดทำเป็นหนังสือการ์ตูนอิเล็กทรอนิกส์
- เป็นนักแต่งเรื่องตามจินตภาพ เช่นการผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์
- เป็นนักสร้างภาพยนต์ จัดทำเป็นวีดิโอดิจิทัล
- เป็นนักสะสม จัดรวบรวมแหล่งสารสนเทศ
- เป็นนักจัดเกมโชว์ จัดเกมเรียนรู้ให้ผู้เรียนคนอื่นเล่น
- เป็นนักจัดรายการทีวีบนเว็บ ให้สาระความรู้แก่ผู้ชม
เป็นต้น
ทั้งนี้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่จัดทำขึ้นในลักษณะดังกล่าว ย่อมขึ้นอยู่กับจุดประสงค์การเรียนรู้ในแต่ละวิชา ซึ่งสามารถบูรณาการให้อยู่ในโครงงานเดียวกันได้ และในแต่ละโครงงานอาจประกอบด้วยสื่อหลายชิ้น เช่น ประกอบด้วยภาพยนตร์ดิจิทัล เพื่ออธิบาย พร้อมด้วยเว็บเพจสำหรับเพิ่มเติมข้อมูลและสารสนเทศ และ CAI แบบทดสอบ สำหรับวัดความรู้ เป็นต้น
การทำโครงงานดังกล่าวข้างต้น เกี่ยวข้องกับการเลือกและมีซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมต่อการนำมาทำโครงงานมัลติมีเดีย ซึ่งอาจเป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์ และซอฟต์แวร์ตัวแปลภาษา
http://www.ku.ac.th/e-magazine/may47/it/ecollaborative.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น